Search Engine คือ อะไร? และช่วยให้ธุรกิจออนไลน์โตขึ้นได้อย่างไร
“อยากรู้อะไรให้ถาม Google” นาทีนี้คงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก Google เพราะไม่ว่าเราจะมีปัญหา อยากศึกษา อยากดูรูปภาพ วิดีโอ กำลังหลงทางต้องค้นหาแผนที่ ทุกคนรู้หมดว่าเราสามารถหาคำตอบได้จาก Google ซึ่งหลายคนที่รู้จัก Google ก็อาจจะยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า Search Engine คือ อะไร? ทำงานยังไง นอกจาก Google จะมีแหล่งค้นหาข้อมูลจากที่ไหนอีกบ้าง และสร้างยอดขายให้ธุรกิจได้ยังไง มาหาคำตอบกัน
Search Engine คือ
เครื่องมือ หรือโปรแกรมสำหรับค้นหาข้อมูลบนโลกอินเตอร์เน็ต โดยจะแสดงผลลัพธ์เป็นเว็บไซต์ รูปภาพ วิดีโอ แผนที่ ตามคำค้นหา หรือ Keyword ของผู้ใช้งาน
ข้อมูลที่นำมาแสดงจะมาจากฐานข้อมูลของ Search Engine เจ้านั้นๆ และมีการใช้อัลกอริธึมในการจัดอันดับผลลัพธ์ที่จะนำมาแสดง และถึงแม้ว่า Search Engine ในโลกนี้จะมีให้เราเลือกใช้มากมาย แต่ทุกเจ้าก็จะใช้หลักการในการค้นหาข้อมูล และแสดงผลลัพธ์ที่เหมือนๆ กันอยู่ดี (ที่ต่างกันจริงๆ คงมีแค่เรื่องฟีเจอร์ และความนิยมในประเทศนั้นๆ)
Search Engine ทำงานยังไง ?
Search Engine ทุกๆ เจ้าจะมีหลักการทำงานพื้นฐานที่เหมือนกันอยู่ 3 ขั้นตอน คือ
- Crawling : การเก็บ รวบรวมข้อมูล
- Indexing : การจัดทำดัชนี
- Ranking : การจัดลำดับผลลัพธ์
1. Crawling : การเก็บ รวบรวมข้อมูล
ก่อนที่ Search Engine จะหาคำตอบมาให้กับเรา เขาก็ต้องเก็บรวบรวมข้อมูลกันก่อน โดยใช้โปรแกรมที่เรียกว่า Web Crawlers (ซึ่งบางคนอาจจะเรียกว่า Bot หรือ Spider) ติดตามไปยังลิงก์ หรือเว็บไซต์ต่างๆ เพื่อเก็บข้อมูล URLs เนื้อหาเว็บไซต์ รูปภาพ และวิดีโอ เมื่อบอทเจอข้อมูล หรือหน้าเว็บไซต์ใหม่ มันก็จะสแกน และส่งข้อมูลกลับมาให้ฐานข้อมูล เพื่อจัดทำดัชนี และก็ค้นหาหน้าเว็บใหม่ต่อไปเรื่อยๆ
2. Indexing : การจัดทำดัชนี
เมื่อบอทเก็บข้อมูลเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการทำดัชนี ซึ่งจะเป็นขั้นตอนที่ Search Engine จะตรวจสอบ จัดเก็บ และเรียบเรียงข้อมูลเว็บไซต์ไว้ในฐานข้อมูลหลัก คล้ายกับการนำหนังสือเล่มมาจัดเก็บไว้ในห้องสมุดขนาดใหญ่ที่ใช้เก็บข้อมูลเว็บไซต์ทั้งหมดบนโลกใบนี้
ที่สำคัญหากเราเป็นคนทำเว็บไซต์ เว็บไซต์ของเราจะต้องได้รับการจัดทำดัชนี เพื่อให้เว็บไซต์มีโอกาสถูกนำไปแสดงบน Search Engine เวลามีคนมาเสิร์ชจะได้เจอ และเข้ามาใช้งานเว็บไซต์ของเรา
สำหรับ Search Engine ของ Google เราสามารถให้บอทเข้ามาเก็บข้อมูลเว็บไซต์ พร้อมจัดทำดัชนีได้ทันที ด้วยเครื่องมือ Google Search Console และตรวจสอบเว็บไซต์ของเราว่าถูกจัดทำดัชนีแล้วรึยัง ด้วยการพิมพ์“site:domain.com” ลงในช่องเสิร์ชของ Google
3. Ranking : การจัดลำดับผลลัพธ์
ขั้นตอนสุดท้าย ก่อนที่ Search Engine จะนำคำตอบ หรือข้อมูลมาแสดงให้กับเรา คือการจัดลำดับเว็บไซต์เพื่อเลือกผลลัพธ์ที่ดีที่สุดมาให้กับเรา ซึ่งเกณฑ์ในการจัดอันดับของทุกเจ้า ส่วนใหญ่ยังคงถูกเก็บเป็นความลับอยู่
ถึงแม้เกณฑ์การจัดอันดับจะถูกเก็บเป็นความลับ แต่คนทำเว็บไซต์ และการตลาดออนไลน์ก็ยังมีการศึกษาเพื่อหาแนวทางทำให้เว็บไซต์ของตัวเองขึ้นไปติดอันดับในหน้าแรกของ Search Engine ให้ได้ โดยการติดตามข่าวสารอัพเดต และศึกษาอัลกอริทึมของ Search Engine จนเป็นที่มาของการทำ Search Engine Optimized (SEO)
รู้จักกับอัลกอริธึมของ Search Engine
อัลกอริธึมของ Search Engine เป็นระบบที่ใช้ในการวิเคราะห์ และประเมินหน้าเว็บไซต์ที่ Search Engine จัดทำดัชนีไว้ทั้งหมด และเป็นตัวกำหนดว่าเว็บไซต์หน้าไหน ควรไปแสดงผลลัพธ์ที่คำเสิร์ชไหน ตัวอย่างเช่น อัลกอริธึมของ Google จะมีปัจจัยในเรื่องของ
- Meaning of the query : การทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ในการเสิร์ช เช่น
หากเราเสิร์ชคำว่า “เครื่องออกกำลังกาย” Google จะดึงหน้าเว็บไซต์ที่เป็นประเภท สินค้า มาให้เรา แต่ถ้าเราเสิร์ชคำว่า “รีวิวเครื่องออกกำลังกาย” Google จะดึงหน้าเว็บไซต์ที่เป็นประเภท บทความ หรือกระทู้ ที่เกี่ยวข้องกับการรีวิวการใช้งานมาให้เรานั่นเอง
- Page relevance : เป็นการประเมินความเกี่ยวข้องระหว่างหน้าเว็บไซต์กับ Keyword ว่า หน้าเว็บที่จะนำมาแสดงให้เราเห็นตอบคำถาม หรือ Keyword ที่เราใช้เสิร์ชหรือไม่
- Content quality : การวัดคุณภาพของเนื้อหา เป็นตัวประเมินว่าเนื้อหาเว็บไซต์นี้มีคุณภาพมากน้อยแค่ไหน โดยวัดจากปัจจัยภายใน และภายนอกมากมายเช่น ความยาวของเนื้อหา, ภาพประกอบ/วิดีโอ, ลิงก์ที่กลับเข้ามาในเว็บไซต์(Backlink) และอื่นๆ
- Page usability : การใช้งานเพจ โดยประเมินจาก การตอบสนอง ความเร็วของเพจ ความปลอดภัย ทั้งบน PC และ Mobile
5 อันดับ Search Engine ยอดนิยม ที่คนทั่วโลกใช้
แน่นอนว่าอันดับ 1 ตกเป็นของ Google แน่นอน แต่เรามาลองทำความรู้จักกับ Search Engine ทั้ง 5 อันดับ กันดูว่า แต่ละตัวมีจุดเด่นอะไรกันบ้าง (เผื่อวันนึง Google ขัดข้อง จะได้มีตัวสำรอง 5555+)
Google เป็น Search Engine ที่เรียกได้ว่าใหญ่ และครอบคลุมที่สุดในโลก โดยครองตลาดเสิร์ชเอ็นจิ้นด้วยส่วนแบ่งการตลาดกว่า 92% ทั่วโลก
มีอัลกอริธึมที่เยอะ และซับซ้อน การรวบรวมข้อมูล การจัดทำดัชนี และการจัดอันดับมีประสิทธิภาพ ให้ผลการค้นหาที่ดีเยี่ยม จนเป็น 1 ในเครื่องมือที่ชีวิตประจำวันของเราจะขาดไปไม่ได้
Bing เป็นอันดับ 2 รองมาจาก Google ซึ่ง Microsoft เป็นเจ้าของ มีส่วนแบ่งตลาดของ Search Engine อยู่ที่ 2% – 3% เป็นอีกตัวเลือกที่ดี สำหรับคนที่อยากลองใช้งานเครื่องมือใหม่ๆ แต่ก็ยังมีความคล้ายคลึงกับ Google ในหลายๆ ด้าน โดยให้ผลการค้นหาเป็นเว็บไซต์ รูปภาพ วิดีโอ สถานที่ แผนที่ เหมือนกัน
Yahoo เป็นอีก 1 เว็บไซต์ยอดนิยม ที่เป็นผู้ให้บริการอีเมล และเป็น Search Engine ที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลกอีกด้วย มีส่วนแบ่งการตลาดโดยรวมเกือบ 2% ซึ่งครั้งหนึ่ง Yahoo ก็เคยเป็น Search Engine ที่ได้รับความนิยมอยู่มาก แต่ก็ลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมาและถูก Google บดบังไป
หลายคนอาจจะไม่คุ้นหูกัน เพราะ Yandex เป็น Search Engine ที่ได้รับความนิยมในประเทศฝั่งตะวันออก แม้ว่าจะมีส่วนแบ่งการตลาดโดยรวมเพียงแค่ 1% แต่ก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือค้นหาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศอย่าง รัสเซีย ตุรกี ยูเครน หรือเบลารุส
Baidu เป็น Search Engine ที่นิยมมากที่สุดในประเทศจีน แม้ว่าส่วนแบ่งตลาดทั่วโลกโดยรวมจะอยู่ที่ 1%แต่ในประเทศจีน กลับมีส่วนแบ่งตลาดถึง 80% โดยมีการค้นหานับพันล้านครั้งทุกวัน
ธุรกิจสามารถสร้างยอดขายจาก Search Engine ได้อย่างไร ?
เรารู้กันดีอยู่แล้วว่าคนที่มีปัญหา หรือมีความต้องการบางอย่างจะหาข้อมูลใน Search Engine ความต้องการนี้รวมไปถึงสินค้า และบริการอื่นๆ ด้วย หากลูกค้าเสิร์ชหาสินค้า แล้วธุรกิจของเราขึ้นไปแสดงบน Search Engine ก็จะทำให้ลูกค้าเข้ามาดูข้อมูล มาซื้อสินค้าในเว็บไซต์ของเรานั่นเอง
สามารถโฆษณาเพื่อโปรโมทได้ – Google ยังมีบริการที่ให้เจ้าของเว็บไซต์สามารถโฆษณา สินค้า และบริการต่างๆ ผ่าน Google Ads ช่วยให้หน้าเพจของเราไปแสดงอยู่บนหน้าแรกของ Google ได้ทันที ปัจจุบันวิธีนี้ก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และสร้างยอดขายให้ธุรกิจได้จริง
เหมาะกับเว็บไซต์ E-Commerce – เพราะอัลกอริธึมของ Google มีการเรียนรู้ว่าคนเสิร์ชต้องการค้นหาอะไร หากมีผู้ใช้งานค้นหาสินค้าใน Google ระบบก็จะรวบรวมร้านค้าออนไลน์มาให้กับลูกค้า แน่นอนว่าถ้าเว็บไซต์ของเราถูกนำไปแสดง มันก็สามารถสร้างยอดขายให้กับเราได้เช่นกัน
Get Started !
ไม่ใช่แค่เครื่องมือสำหรับค้นหาข้อมูล Search Engine คือ ช่องทางที่ทำให้ธุรกิจเติบโต และเพิ่มยอดขายบนออนไลน์ได้อีกด้วย หากคุณอยากมียอดขายที่เพิ่มขึ้นจากช่องทาง Search Engine ลองเริ่มต้นทำเว็บไซต์ และทำให้ติดอันดับบน Google ธุรกิจของคุณก็สามารถโตขึ้นได้แน่นอน
Source :