4สาเหตุ ทำไมโฆษณา Google Shopping Ads ไม่อนุมัติ!
การทำโฆษณาออนไลน์ เป็นวิธีที่คนส่วนใหญ่นิยมใช้โปรโมทสินค้า ให้กับกลุ่มเป้าหมายได้ทราบ และรับรู้ถึงการมีอยู่ของสินค้านั้น ๆ เพื่อจูงใจให้เกิดความต้องการอยากซื้อสินค้า ผ่านทางสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพบเห็นแบนเนอร์บนเว็บไซต์ ไถ social media แล้วเจอ หรือค้นหาสินค้าที่ต้องการผ่าน Google และโฆษณาที่น่าจับตามองสุด ๆ ต้องยกให้ Google Shopping Ads เลยล่ะค่ะ
Google Shopping Ads คือ การโฆษณาสินค้าบนหน้า Google ในรูปแบบของ Shopping Card โดยจะแสดงภาพสินค้า ราคาและชื่อร้านค้าไว้ในการ์ดเดียว เพื่อให้คนที่สนใจสามารถเข้าถึงสินค้าได้ง่าย และกดเข้าไปซื้อได้ทันที เหมาะมาก ๆ กับร้านค้าออนไลน์ที่มีสินค้าเยอะ แต่สินค้านั้นควรเป็นที่รู้จักอยู่แล้วพอสมควร
🔎 อยากรู้จัก Shopping Ads ให้มากขึ้น คลิกเลย
หลายคนคงจะเคยลองขึ้นโฆษณา Shopping ADS กันแล้ว และต้องเจอกับปัญหา “ โฆษณาไม่อนุมัติ ” สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้ทาง Google เขาไม่อนุญาตให้โฆษณาของเราไปแสดง ก็คือ คุณได้ทำผิดนโยบายโฆษณาหรือกฎโฆษณาของ Shopping Ads นั่นเอง
แต่จะมีกฎระเบียบอะไรบ้าง เราลิสต์มาให้คุณในบทความนี้แล้วค่ะ
นโยบายโฆษณา Google Shopping Ads (Policy)
Google ได้แบ่งประเภทนโยบายโฆษณา Shopping Ads ออกเป็น 4 กลุ่มหลัก เพื่อให้ครอบคลุมทุกประเด็นปัญหา ดังนี้ค่ะ
1.เนื้อหาต้องห้าม
โฆษณา Shopping Ads ได้มีการจำกัดการขายสินค้าบางประเภท และห้ามเผยแพร่เนื้อหาบางอย่าง โดยกูเกิ้ลได้กำหนดสินค้าที่ห้ามขึ้นโฆษณาเด็ดขาด 5 ประเภท
- สินค้าลอกเลียนแบบ ทั้งทางลักษณะสินค้า ชื่อแบรนด์ หรือโลโก้แบรนด์
- สินค้าอันตราย เช่น อาวุธ ยาเสพติด และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
- สินค้าที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่ซื่อสัตย์ จะเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวง เอกสารพร้อม อุปกรณ์การแฮ็ก หรือการลักลอบค่ะ
- สินค้าที่โฆษณา Shopping ไม่รองรับ ส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งที่ Google มองว่าเมื่อโปรโมทแล้วจะไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดีสักเท่าไหร่ เช่น ตั๋ว ยานพาหนะ การบริการ อสังหาริมทรัพย์ สินค้าที่เกี่ยวกับการเงิน การพนัน สินค้าผู้ใหญ่
ตามไปอ่านข้อมูลเกี่ยวกับ สินค้าต้องห้าม ได้เลย
2.สิ่งที่ห้ามปฏิบัติ
2.1 การใช้โฆษณาไปในทางที่ผิด
โฆษณาจะต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ผู้ใช้ต้องการค้นหา ที่สำคัญคือ ต้องปลอดภัยด้วย Google จึงไม่อนุญาตให้โฆษณาสิ่งเหล่านี้
- ซอฟต์แวร์ที่เป็นอันตราย (Malware) สินค้าซอฟต์แวร์ หรือ Application ที่ติดตั้งไปแล้วมีไวรัส ที่อาจทำให้เกิดความเสียหายกับเครื่องมืออุปกรณ์นั้นได้ หรือแม้แต่มีการแฝงโปรแกรมอื่น ๆ ในขณะที่ติดตั้งลงแต่ละอุปกรณ์ค่ะ
- เนื้อหาไม่มีคุณภาพ โฆษณาสินค้าที่ไม่มีอยู่จริง สินค้าที่สร้างมาเพื่อเรียกกระแสให้เข้าชมเว็บไซต์เท่านั้น หรือเว็บไซต์ที่สร้างมาเพื่อเป็นทางผ่านในการคลิกไปยังเว็บไซต์จริง
- การใช้ช่องโหว่ของเครือข่าย Google ปิดบังหน้าเว็บไซต์จริง เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของระบบ Google ได้ค่ะ
2.2 การใช้ข้อมูลส่วนตัวที่ไม่ปลอดภัย
ทุกวันนี้ ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต มักจะให้ความสำคัญกับเรื่องข้อมูลส่วนตัวเป็นอย่างมาก
Google ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ค่ะ จึงไม่อนุญาตให้โฆษณาไปยังเว็บไซต์หรือปลายทางที่ต้องการเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็น ชื่อเต็ม วันเกิด อีเมล เบอร์โทรศัพท์ หมายเลขประจำตัวประชาชน ฯลฯ โดยไม่ผ่านเซิร์ฟเวอร์ SSL (https://)
2.3 การสื่อให้เข้าใจผิด
เนื้อหาโฆษณา จะต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่ปิดบังข้อมูลที่ผู้ใช้ควรจะรับรู้ เช่น
- ไม่แจ้งรูปแบบการชำระเงิน และค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการสั่งซื้อสินค้า
- ไม่แจ้งเงื่อนไขทั้งก่อนและหลังการซื้อให้ชัดเจน
- โปรโมตสินค้าที่ไม่มีอยู่ในสต็อก หรือโปรโมชั่นส่วนลดที่ใช้งานไม่ได้แล้ว
- ใช้ข้อมูลสินค้าไม่เป็นจริง ตามคุณสมบัติ เช่น ผ่านการรับรองโดยองค์กรที่น่าเชื่อถือ ใช้รักษาโรคได้
- แอบอ้างเป็นธุรกิจอื่น โดยใช้เนื้อหาสินค้า และ url ปลายทางเป็นธุรกิจนั้น
3. เนื้อหาที่จำกัด
เพราะแต่ละประเทศก็มีกฎหมาย วัฒนธรรมที่แตกต่างกัน Google เองจึงพยายามที่จะแสดงโฆษณา Shopping Ads ในช่วงเวลาและสถานที่ที่เหมาะสมด้วย จึงทำให้สินค้าต่อไปนี้ มีข้อจำกัดและอาจไม่อนุมัติโฆษณาในบางพื้นที่ได้ค่ะ
3.1 เนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่
ทั้งสินค้าสำหรับผู้ใหญ่ และเนื้อหาโฆษณาที่ชี้นำเรื่องเพศ หรือรูปภาพที่สื่อไปถึงเรื่องเพศ หากคุณเลือกพื้นที่ที่สามารถโฆษณาสินค้านี้ได้ โฆษณาของคุณจะต้องไม่กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเยาวชน และใช้เนื้อหาทางเพศอย่างโจ่งแจ้ง
3.2 เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ไม่ว่าจะเป็นสุรา เบียร์ แชมเปญ ไวน์ สาเก ทั้งที่มีแอลกอฮอล์ และไม่มีแอลกอฮอล์ หากคุณเลือกพื้นที่ที่สามารถโฆษณาสินค้านี้ได้ คุณจะต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายไปหาคนที่มีอายุมากกว่ากฎหมายกำหนด และไม่มีเนื้อหาไปในทางเชิญชวน การแข่งขัน การชี้ให้เห็นว่าเครื่องดื่มเหล่านี้มีประโยชน์ หรือว่าสามารถรักษาโรคได้
3.3 การพนัน
ในที่นี้หมายถึง สินค้าและบริการทุกอย่าง ที่เกี่ยวข้องกับการพนัน เช่น สลากกินแบ่งรัฐบาลหรือเอกชน เว็บไซต์การพนันหรือแม้แต่เว็บไซต์ที่เสนอรหัสโบนัสเกี่ยวกับการพนัน
3.4 สินค้าสุขภาพ
Google ได้จำกัดการโปรโมทเนื้อหาเกี่ยวกับสินค้าด้านสุขภาพ สุขอนามัยไว้ด้วยค่ะ ไม่ว่าจะเป็น ยาที่ซื้อตามร้านขายยา หรือที่สั่งโดยแพทย์ อาหารเสริมที่ไม่ได้รับอนุญาต สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ สินค้าเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งข้อจำกัดเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดในพื้นที่ที่คุณเลือกลงโฆษณาเลยค่ะ
3.5 เนื้อหาทางการเมือง
ไม่ว่าจะเป็นการโปรโมทที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง หรือการใช้เนื้อหาที่สนับสนุนประเด็นทางการเมือง ก็จะต้องดูกฎหมายของแต่ละพื้นที่ด้วยนะคะ และถ้าหากพื้นที่นั้นสามารถแสดงโฆษณาได้ จะต้องไม่ขึ้นโฆษณาในช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้งค่ะ
4. ข้อกำหนดด้านเนื้อหาโฆษณาและเทคนิค
เพื่อไม่ให้ผู้ใช้งานต้องเกิดความรำคาญในเนื้อหาโฆษณา ทาง Google ได้ออกนโยบายห้ามมีเนื้อหาต่าง ๆ เหล่านี้ค่ะ
- URL ไม่แสดงหน้าปลายทางที่ถูกต้อง
- การแปลงคำตัวเลขหรือตัวอักษร และการใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ เข้ามาปะปน เช่น FREE , f-r-e-e และ F₹€€
- เว็บไซต์ที่ยังสร้างไม่เสร็จ หรือปิดใช้งานอยู่
- เว็บไซต์ที่ไม่สามารถเปิดดูได้ในเบราว์เซอร์ทั่วไป
รู้แล้ว เริ่มเลย!
ใครที่ลองลงโฆษณา Shopping Ads แล้วเกิดปัญหาโฆษณาไม่อนุมัติ ก็ลองเช็คดูนะคะ ว่าคุณทำผิดนโยบายข้อไหน จะได้รีบแก้ไข และส่งให้ทาง Google พิจารณาใหม่ เพื่อการโปรโมทสินค้าที่ต่อเนื่องในร้านค้าออนไลน์ของคุณ
📍 สามารถเข้าไปอ่านนโยบายฉบับเต็ม ได้ที่เว็บไซต์ของ Google Merchant Center
และใครที่คิดจะลงโฆษณา Shopping ADS คงได้รู้แล้วว่า สินค้าแบบไหน หรือเนื้อหาโฆษณาแบบไหน ที่ผิดกฎระเบียบของ Google Shopping Ads ก็แนะนำว่าเลี่ยงได้เลี่ยง หรืออย่าไปลองท้าทายพี่ Google เขาเด็ดขาดเลยนะ เพราะถ้าทำผิดบ่อย ๆ เข้า อาจทำให้บัญชีโฆษณาของคุณโดนตรวจสอบ ร้ายแรงถึงขั้นโดนปิดถาวรเลยทีเดียวค่ะ