Call To Action คือ อะไร ? เรียกความสนใจจากลูกค้าด้วยคำสั้น ๆ แต่ทรงพลัง
การส่งสารไปถึงกลุ่มเป้าหมายในแต่ละครั้ง อาจทำได้โดยง่าย
แต่การทำให้กลุ่มเป้าหมายทำในสิ่งที่คุณต้องการนั้น…ยากกว่า!
เพื่อทำให้ผู้มีแนวโน้มเป็นลูกค้ากระทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่คุณต้องการ Call to Action คือ สิ่งที่คุณต้องทำความรู้จักกับมัน เพราะมันเป็นเพียงวลีหรือประโยคสั้น ๆ ที่จะกระตุ้นความสนใจ และนำไปสู่การตัดสินใจของลูกค้าในการทำแคมเปญการตลาดได้ค่ะ
Call To Action คือ อะไร ?
หลายคนที่เป็นนักการตลาดอาจจะรู้จักคำนี้เป็นอย่างดี
Call to Action หรือเรียกสั้น ๆ กันว่า CTA คือ คำกระตุ้นการตัดสินใจหรือคำสั่งที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่เอาไว้ใช้ในแคมเปญการตลาด ช่วยกระตุ้นให้ผู้เข้าชมเว็บไซต์ดำเนินการตามที่คุณต้องการ
ซึ่ง CTA อาจมีรูปแบบที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับความต้องการ หรือ จุดประสงค์ของธุรกิจนั้น ๆ หรือแตกต่างกันไปตามแต่ละแพลตฟอร์มด้วย ไม่ว่าจะเป็นบนเว็บไซต์ รูปภาพบนโซเชียลมีเดีย อีเมล์ หรือแม้กระทั่งสื่อออฟไลน์อย่างโบรชัวร์ ก็สามารถใช้ CTA ได้
Call To Action ที่ดี ต้องเป็นแบบไหน ?
อย่างที่บอกไปค่ะ ว่าการให้ลูกค้าทำตามสิ่งที่คุณต้องการนั้นเป็นไปได้ยาก แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย
การเพิ่ม conversion และเพิ่มการมีส่วนร่วม (Engagement) ให้กับสื่อของคุณ ด้วย Call to Action ที่น่าสนใจ เป็นสิ่งที่จะช่วยให้ความปรารถนาของคุณสำเร็จลุล่วงได้ค่ะ
มาดูกันว่า คุณจะสร้าง Call to Action ที่ดี เพื่อบรรลุเป้าหมายได้ยังไงบ้าง
1. เลือกคำสั้น ความหมายตรง
การใช้ CTA ที่สั้นและตรงประเด็น มักจะได้ผลดีกว่าการใช้คำที่ดูซับซ้อนเกินไป
การเลือกใช้คำที่สั้น กระชับไม่ใช่แค่จะสามารถโน้มน้าวใจลูกค้าได้มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเหมาะมาก ๆ กับการดีไซน์ค่ะ ทั้งข้อจำกัดของพื้นที่บนเว็บไซต์ พื้นที่บนรูปโปรโมท หรือแม้แต่จำนวนอักษรในโฆษณา การใช้คำสั้น ๆ ช่วยให้คุณดีไซน์ขนาดของปุ่ม CTA ให้พอดีได้ในแถวเดียวค่ะ
ตัวอย่าง CTA ที่หลายธุรกิจนิยมใช้กันบ่อยที่สุด
อีกหนึ่งเทคนิคการเลือกใช้คำสำหรับ Call to Action คือ Fear of Missing Out (FOMO) เป็นเทคนิคการกระตุ้นให้ลูกค้ารู้สึก ‘เสียดายถ้าต้องพลาดโอกาสนี้ไป’ หรือพูดง่าย ๆ ว่าลูกค้าจะเกิดอาการกลัวว่าจะไม่ได้ กลัวว่าจะไม่มี กลัวว่าจะไม่รู้ จนต้องรีบ Action กลับมาทันที
ตัวอย่าง CTA ประเภทนี้ อย่างเช่น
- ลดทั้งร้าน วันเดียวเท่านั้น
- จำนวนจำกัด เพียง 100 ท่านแรก!
- 20 ชิ้นสุดท้าย! หมดแล้วหมดเลย
2. ต้องเด่นและแตกต่าง
ถ้าอยากให้ Call to Action โดดเด่นจนลูกค้าต้องเห็นทุกคน สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกสำหรับการออกแบบปุ่ม CTA คือ การเลือกใช้สีค่ะ เทคนิคนี้อาจมองว่ามันดูเบสิค แต่การเลือกใช้สีที่เด่นตัดกับสีพื้น หรือการเลือกใช้สีตัวหนังสือที่ตัดกับสีปุ่ม จะช่วยให้ลูกค้าสะดุดตา และรับรู้ว่าคุณต้องการให้เขาทำอะไร
ตัวอย่างหน้าเว็บไซต์ Netflix
มากกว่าสีที่เด่นกระแทกตาแล้ว การทำให้ลูกค้ารับรู้ถึงความแตกต่างของ CTA กับ Text ข้อความธรรมดาก็สำคัญค่ะ ควรออกแบบให้ลูกค้ามองปุ๊บก็รู้ทันทีว่าสิ่งนี้ต้องคลิก! ทั้งการดีไซน์ Call to Action เป็นปุ่มนูน มีเส้นขอบชัดเจน มีการเพิ่มเงา หรือใส่สัญลักษณ์ลูกศร เหมือนในตัวอย่างหน้าเว็บไซต์ Netflix ก็ทำได้ค่ะ
3. เห็นเด่นชัดในทุกอุปกรณ์
จากข้อมูลของ Statcounter ผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟนเป็นประจำ มีจำนวนมากกว่าครึ่งนึง ของปริมาณผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมด เพราะฉะนั้น คุณต้องคำนึงถึงการแสดงผลบนมือถือมาเป็นอันดับหนึ่งเลยล่ะค่ะ
คุณควรเช็คให้ดีว่า Call to Action ของคุณ มีการปรับให้เหมาะสมหรือพอดีกับหน้าจออุปกรณ์ต่าง ๆ แล้วหรือยัง ไม่ว่าจะเป็น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อป และควรออกแบบปุ่ม CTA ให้แสดงผลได้อย่างชัดเจน สวยงามในแต่ละแพลตฟอร์มค่ะ
นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันสำหรับ CTA คือ เรื่องการจัดวาง จากสถิติพบว่า เมื่อเข้าสู่เว็บไซต์ ผู้เข้าชมส่วนใหญ่มักจะมองภาพรวมเว็บไซต์อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะส่วนบนของเว็บไซต์ เราจึงแนะนำให้วาง CTA ให้อยู่ในตำแหน่งที่สูงพอบนหน้าเว็บไซต์หรือในอีเมล์ค่ะ
4. มี Call To Action สำรอง
การดำเนินการตาม CTA ที่คุณต้องการ อาจเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่สำหรับลูกค้าบางคน ตัวอย่างเช่น ลูกค้าต้องการหาข้อมูลของสินค้าก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ หรือ ลูกค้าต้องการดูตัวอย่างไฟล์ก่อนตัดสินใจดาวน์โหลด การใส่ Call to Action หลักจึงมาพร้อมกับ CTA สำรองที่อยู่ใกล้เคียงกันได้ค่ะ
ตัวอย่างหน้าเว็บไซต์ Apple
นอกจากนี้ ในหน้าปลายทางของ CTA สำรอง คุณควรใส่ CTA หลักเข้าไปในตอนท้าย เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจของลูกค้าอีกครั้งด้วยนะคะ เทคนิคนี้ จะช่วยให้คุณโน้มน้าวกลุ่มเป้าหมายให้ดำเนินการตามที่คุณต้องการได้มากเลยทีเดียว เพราะเขาอาจจะตัดสินใจซื้อทันทีที่อ่านจบ แทนที่จะกดออกไปจากเว็บไซต์คุณก็เป็นได้
รู้แล้ว ลองเลย !
เมื่อคุณใช้ Call To Action ในการทำการตลาดแล้ว ไม่ใช่แค่ส่งออกหรือแปะปุ่ม CTA เด่น ๆ ไว้หน้าเพจแล้วจะจบ คุณควรวิเคราะห์และรีเช็คหลังจากนั้นด้วยว่า
✔ ลิงก์ปลายทางใช้งานได้หรือเปล่า
✔ ลูกค้าคลิก CTA แบบไหนมากกว่ากัน
✔ Flow แบบไหนที่ลูกค้า Action มากที่สุด
✔ การเลือกใช้ CTA ทำให้เกิด Conversion ตามที่ต้องการได้จริงมั้ย
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ คุณสามารถเช็คได้จาก Google Analytics เครื่องมือที่สามารถใช้ได้ฟรี เพื่อการประเมินเส้นทางของผู้ใช้เว็บไซต์ของคุณค่ะ
หาก Call to Action ที่คุณใช้ ยังไม่สามารถทำให้บรรลุเป้าหมายได้
ลองปรับเปลี่ยนดีไซน์ การใช้คำ หรือตำแหน่งการจัดวางตามเทคนิคที่ได้บอกไปนะคะ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้คุณปรับปรุงการสื่อสารระหว่างคุณและลูกค้า พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการทำการตลาดออนไลน์ให้ดีขึ้นได้แน่นอนค่ะ