รู้ไว้ก่อนโดน สคบ. ปรับ ! เว็บขายของออนไลน์ต้องจดทะเบียนตลาดแบบตรงด้วย
หลังจากมีประเด็นโด่งดังในโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับผู้ประกอบการรายหนึ่งที่ได้โพสต์ผ่าน Facebook ส่วนตัวถึงเรื่องที่ถูก สคบ เรียกปรับเงินเป็นจำนวน 132,000 บาท เนื่องจากเขาไม่ได้จดทะเบียน ‘การประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง’ ซึ่งทำเอาผู้ประกอบธุรกิจออนไลน์หลายรายกังวลว่าจะถูกเรียกปรับเงินด้วยหรือไม่ และมีหลายรายที่เข้ามาคอมเม้นต์แจ้งว่าตนก็โดนเช่นเดียวกัน
เจ้าของโพสต์ได้เล่าว่าได้ทำการสอบถามไปยัง สคบ.เกี่ยวกับประเด็นนี้ ซึ่งก็สรุปมาได้ว่า
- การขายของออนไลน์ ถือว่า เป็นการทำการตลาดแบบตรง ตามกฎหมายจะต้องยื่นเอกสารเพื่อขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ.ด้วย
- การจดทะเบียน ‘การประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง’ คือ ถ้าคุณมีการขายของออนไลน์โดยการใช้สื่อที่ส่งตรงข้อมูลถึงลูกค้าได้เลย ไม่ว่าจะเป็นทางเว็บขายของออนไลน์ โซเชียลมีเดีย อีเมล โทรศัพท์ ใบโบรชัวร์ โปสเตอร์ โฆษณาต่าง ๆ โดยการขายนั้นไม่ต้องใช้ตัวแทนในการติดต่อกับผู้บริโภค ธุรกิจของคุณก็เข้าข่ายเป็นธุรกิจตลาดแบบตรง และจะต้องทำการจดทะเบียนกับทาง สคบ.
- กฎหมายนี้ยกเว้นกับ ธุรกิจขายของออนไลน์ที่มียอดขายไม่เกินปีละ 1.8 ล้านบาท และยกเว้นกับผู้ประกอบการ SMEs โดยธุรกิจจะต้องเข้าคุณสมบัติ SMEs ตามกฎหมายกระทรวงปี 2561
- ผู้ประกอบการ 1 คน 1 รายชื่อ สามารถจดทะเบียนได้ 1 เว็บไซต์เท่านั้น เนื่องจากกฏหมายได้ระบุไว้เพื่อป้องการทำธุรกิจขายตรงแบบจดทะเบียนหลายบริษัท และอาจจะกลายเป็นแชร์ลูกโซ่ได้
- ทาง สคบ .ไม่ได้มีทีมงานตรวจสอบเรื่องนี้โดยตรง แต่จะดำเนินการแจ้งปรับต่อเจ้าของธุรกิจก็ต่อเมื่อมีคนเขียนคำร้องเข้ามาให้ตรวจสอบ และผู้แจ้งจะได้ส่วนแบ่งจากค่าปรับถึง 25%
การตลาดแบบตรง ไม่ใช่ การขายตรง
แม้คำจะมีความคล้ายกัน แต่อย่าเข้าใจผิดค่ะ เพราะสองอย่างนี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งเป้าหมาย รูปแบบการดำเนินธุรกิจ และการเข้าถึงลูกค้า
การขายตรง (Direct Selling)
เป็นรูปแบบหนึ่งในการขายสินค้า ที่จะเน้นรับตัวแทนจำหน่ายเพื่อติดต่อกับลูกค้า โดยไม่ผ่านร้านค้าปลีกหรือช่องทางจัดจำหน่ายใด ผู้ขายจะใช้วิธีการนำเสนอสินค้ากับลูกค้าแบบตัวต่อตัวผ่านการสาธิตสินค้า สาธิตการใช้งาน การพูดคุยโน้มน้าวหรือการจัดงานพบปะ
ส่วนใหญ่พบในธุรกิจเครือข่าย (MLM) เช่น การขายสินค้าเสริมความงาม อาหารเสริม วิตามินหรือพวกผลิตภัณฑ์สุขภาพ
การตลาดแบบตรง (Direct Marketing)
เป็นการทำการตลาดเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยตรง ผ่านสื่อหรือช่องทางต่าง ๆ โดยไม่ต้องใช้ตัวแทนจำหน่ายเพื่อมาขาย เพราะจะเน้นให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อหรือมีปฏิสัมพันธ์กับทางแบรนด์กลับมามากกว่า เช่น กรอกแบบฟอร์ม สมัครสมาชิก หรือซื้อสินค้า
ส่วนใหญ่จะใช้เครื่องมืออื่น ๆ เข้ามาเป็นตัวช่วย เช่น การโฆษณา การส่งอีเมล การบรอดแคสต์ทางไลน์ การส่งโบร์ชัวร์ตามบ้าน
ข้อแตกต่างระหว่าง ธุรกิจขายตรง กับ การตลาดแบบตรง
สรุปแล้ว การขายของออนไลน์ แบบไหน
ถึงต้องจดทะเบียน ‘การประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง’ บ้าง ?
- ใช้สื่อเพื่อขายสินค้าหรือบริการ
หากธุรกิจของคุณใช้สื่อที่เข้าถึงลูกค้าโดยตรง เช่น เว็บขายของออนไลน์ , โซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น Facebook , Instagram , LINE OA , อีเมล , SMS โฆษณาออนไลน์หรือแอปพลิเคชันในการโปรโมตและขายสินค้า โดยไม่ได้ผ่านหน้าร้านจริง
- ขายสินค้าให้ลูกค้าปลายทาง
ธุรกิจที่ไม่ได้ขายสินค้าให้กับตัวแทนจำหน่ายหรือผู้ค้าคนอื่น ๆ แต่เน้นการขายของออนไลน์โดยตรงถึงผู้บริโภคหรือลูกค้าปลายทาง
- มียอดขายมากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี
หากคุณได้จดทะเบียนนิติบุคคล แล้วมียอดขายผ่านทางออนไลน์มากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี
โทษของบุคคลที่ฝ่าฝืนทำธุรกิจการตลาดแบบตรงแต่ไม่ได้จดทะเบียนไว้ คือจะต้องโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากยังคงฝ่าฝืนกฎอยู่ จะต้องโทษปรับอีกวันละ 10,000 บาทตามพ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ค่ะ
ศึกษารายละเอียดการจดทะเบียนเพิ่มเติมได้ที่