Marketing
Marketing

SOAR คืออะไร? เครื่องมือที่ช่วยวางแผนธุรกิจคุณได้ดีกว่า SWOT ??

     การใช้เครื่องมือ SWOT Analysis ยังถือว่าไม่เพียงพออีกต่อไปแล้วในปัจจุบัน เพราะว่า สิ่งแวดล้อมทางธุรกิจได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้การวางแผนโดยผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า SWOT Analysis ขาดการเชื่อมโยงกับ วิสัยทัศน์ และเป้าหมายในอนาคตของหน่วยงานหรือองค์กร

     การใช้ SWOT ในการวางแผนการตลาดนั้น มักเกิดจากมุมมองของผู้บริหารหรือคนเพียงกลุ่มเดียว ดังนั้นข้อมูลหรือผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่ได้ดีอย่างที่คิด เหมือนคำที่กล่าวว่า “หลายหัวดีกว่าหัวเดียว” นั่นเองครับ

 

SOAR หรือ ซออาร์ คืออะไรและดียังไง ? 

     SOAR เดิมคือหลักการ SWOT ที่นำวิธีคิดแบบ Appreciative Inquiry เรียกสั้น ๆ ว่า “AI” เข้ามาผสมผสาน โดยวิธีคิดนี้หมายถึง การตั้งคำถามเชิงบวกกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคน ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการวิเคราะห์

  • จุดแข็ง (Strengths)
  • โอกาส (Opportunities)
  • แรงบันดาลใจ (Aspiration)
  • ผลลัพธ์ที่คาดหวัง (Results)

 

“เป็นการวิเคราะห์เพื่อค้นหาแนวทางที่ดีที่สุด สำหรับการนำไปปฏิบัติ ให้บรรลุเป้าหมายนั่นเองครับ”

 

แล้ว SOAR ต่างจาก SWOT อย่างไร ?

 

     SWOT จะวิเคราะห์ถึงสภาพแวดล้อมภายใน และสภาพแวดล้อมภายนอกขององค์กร ซึ่งเป็นการวิเคราะห์เพียงภาพรวมกว้าง ๆ ไม่ได้มีวิธีการหรือขั้นตอนที่นำไปสู่เป้าหมาย

     แต่ในทางตรงกันข้าม SOAR จะวิเคราะห์ทั้งจุดแข็ง จุดอ่อน รวมถึงแรงบันดาลใจ และกำหนดผลลัพธ์ที่ต้องการในอนาคต ดังนั้น SOAR จึงมีขั้นตอนที่ละเอียดกว่า สมเหตุสมผลกว่า และนำไปใช้จริงได้ง่ายกว่านั่นเอง

     ซึ่งวิธีการนำ SOAR ไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์จริง จะเป็นการตั้งคำถามเชิงบวกในแต่ละประเด็น แล้วนำไปสอบถามผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคนในองค์กร เมื่อได้คำตอบมาแล้ว ก็นำคำตอบนั้นมาร้อยเรียงตามตัวชี้วัด 4 ตัว ได้แก่

 

1 Strength (จุดแข็ง)

     การวิเคราะห์หาจุดเด่นที่ทำได้ดีหรือปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งเสริมให้เกิดความแตกต่างและสร้างข้อได้เปรียบทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นระบบองค์กร สินค้าและบริการ หรือการทำงานของทีมงาน เช่น ส่วนแบ่งทางการตลาด (Market Share) ที่สูงกว่าคู่แข่ง เงินทุนจำนวนมากสำหรับการลงทุนและขยายกิจการ สถานที่ตั้งอยู่ใกล้ BTS/MRT มีผู้คนผ่านจำนวนมาก เป็นต้น

2 Opportunity (โอกาส)

     โอกาสทางธุรกิจคือสิ่งที่ส่งผลดีต่อการดำเนินงาน การสร้างรายได้และการทำกำไรเพิ่มขึ้น หรือแม้กระทั่งประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีขึ้นก็ได้เช่นกัน โดยเป็นปัจจัยจากภายนอกที่เกิดขึ้นเองและมักมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ซึ่งโดยส่วนมากแล้วไม่ได้เกิดขึ้นตลอดไป แต่จะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว เช่น เทรนด์ของผู้บริโภค นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เป็นต้น

3 Aspiration (แรงบันดาลใจ)

     การตอบคำถามว่าแรงบันดาลใจขององค์กรคืออะไรก็เปรียบเสมือนการวางเป้าหมายขององค์กร เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนว่าสุดท้ายแล้วอะไรคือสิ่งที่องค์กรต้องการ หรือเป็นสิ่งที่องค์กรนั้นจำเป็นต้องให้สำเร็จ สำหรับเตรียมพร้อมวางแผนการดำเนินงานให้ชัดเจนไม่กำกวม เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปอยู่เสมอ เช่น การตั้งเป้ายอดขายเกิน 50,000 ล้านบาทต่อปี จากเดิมที่ปีละ 10,000 ล้านบาท เป็นต้น

4 Result (ผลลัพธ์)

     เป็นสิ่งที่ต่อยอดมาจากเป้าหมายขององค์กรเพื่อใช้ในการวัดผลการดำเนินงาน ซึ่งต้องเป็นสิ่งที่วัดเป็นตัวเลขหรือจับต้องได้ ทำหน้าที่เหมือนกับ KPI result ในการวัดผลของเป้าหมายหรือ Aspiration ที่ต้องวัดว่าจะสามารถบรรลุได้อย่างไรบ้าง เช่น ระยะเวลาของการดำเนินงาน จำนวน Project หรือ Initiatives ที่ต้องทำให้สำเร็จต่อปีเพื่อให้บรรลุเป้าหมายหลัก เป็นต้น ซึ่งบางครั้งก็เป็นเหมือนกับการตรวจสอบอีกครั้งว่าเป้าหมายองค์กรที่ตั้งไว้ สามารถวัดผลได้จริงหรือไม่

 

     เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนแล้ว สิ่งที่ต้องทำในขั้นต่อไปคือ การวางแผนเชิงกลยุทธ์ ซึ่งก็ต้องมีการวัดผล SOAR Analysis ระหว่างทางอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้แน่ใจว่าคำถามเชิงบวกที่เราใช้นั้น นำไปสู่ผลดีที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจริงๆ ครับ